Powered By Blogger

วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

ดูแล-รักษาผู้ป่วยด้วย “ธรรมะบำบัด”

จิตที่มีสุขภาพดีย่อมส่งผลให้กายมีสุขภาพดีตามไปด้วย ผู้ที่ฉุนเฉียว โกรธง่าย มีโอกาสเสียชีวิตเพราะโรคหัวใจมากกว่าคนทั่วไปถึงร้อยละ 29 ยิ่งคนที่มีความวิตกกังวลด้วยแล้ว จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า ความวิตกกังวล ความเครียด ความซึมเศร้า และความฉุนเฉียวนั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่จะทำให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพตามมาไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสุขภาพกายหรือปัญหาสุขภาพจิต
สำหรับคนไทยแล้วปัญหาสุขภาพจิตที่กำลังคุกคามคนไทยในปัจจุบันพบว่า อันดับแรก คือ ความเครียด รองลงมา คือ ซึมเศร้า ซึ่งสาเหตุของปัญหามักจะเกี่ยวข้องกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สูญเสียทรัพย์สิน หรือแม้แต่เสียหน้า ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความรู้สึกว่าสูญเสียเช่นกัน
เมื่อมีปัญหาสุขภาพจิต จึงมีผู้ป่วยหลายรายที่เลือกหันหน้าเข้าหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ด้วยการยึดหลักคำสอนทางศาสนา เพื่อช่วยทำให้จิตใจเกิดความเข้มแข็งสามารถยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นใน ต่อมาแวดวงจิตแพทย์จึงได้เริ่มนำหลักพุทธธรรมมาใช้ในการบำบัดจิตใจให้กับผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต หรือที่เรียกว่า "ธรรมะบำบัด"
 การนำธรรมะมาประยุกต์ใช้ในการบำบัดผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ทั่วโลกจะเน้นเรื่องการปรับอารมณ์ ความคิดเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ช่วยทำให้ผู้ป่วยมีความสุขมากขึ้น ในปัจจุบันจิตแพทย์หลายๆ ท่านก็ได้ประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาบำบัดผู้ป่วยทางจิตควบคู่ไป กับแนวทางการรักษาตามหลักจิตเวชศาสตร์ โดยมองว่าพระพุทธเจ้าเป็นนักจิตวิทยาที่ยิ่งใหญ่ของโลก เนื่องจากแนวทางจิตบำบัดจะเน้นในเรื่องการปรับความคิด ซึ่งสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนาที่เน้นในเรื่องการปรับความคิด เรื่องสติปัญญา และเรื่องฝึกจิตสมาธิเช่นกัน
            สำหรับ "ธรรมะบำบัด" ในพระพุทธศาสนา นั้นมีหลักอยู่ 3 ประการคือ ทำความดี ละความชั่ว ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งและสงบ



          ที่มา:  Hospital Healthcare ปีที่ 4, ฉบับที่ 30, มีนาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น